วันพุธที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

โฮงมูนมังเมืองขอนแก่น

ประวัติความเป็นมา

โฮงมูนมังเมืองขอนแก่น คือหอ เก็บสมบัติที่เก็บรวบรวมเรื่องอันเป็นที่มาของเมืองขอนแก่นหรือพิพิธภัณฑ์ เมืองจัดตั้งขึ้นมาเพื่อเชื่อมโยงให้ชุมชนเกิดจิตสำนึกในความรักและหวงแหน ท้องถิ่นของตนเองและเป็นศูนย์กลางการศึกษาค้นคว้าข้อมูลประวัติศาสตร์เมือง ขอนแก่นจัดสร้างด้วยงบอุดหนุนของ ททท. จำนวน 18 ล้านบาท ในปี2540แล้วเสร็จเมื่อปี 2546
                คำว่า "โฮง" ในภาษาอีสานหมายถึง โรงหรือห้องโถงที่มีขนาดใหญ่ ส่วนคำว่า"มูนมัง" หมายถึงทรัพย์สมบัติหรือมรดกโฮงมูนมังเมืองขอนแก่นเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เก็บ ภูมิปัญญาที่มีการเล่าเรื่องต่างๆ ของเมืองขอนแก่น เล่าเรื่องปฏิสัมพันธ์ของคนลาวคนจีน คนญวนหรือคนฝรั่ง ที่มาอยู่เมืองขอนแก่นนานมาแล้วเป็นร้อยๆปีจนถึงวิถีชีวิตของผู้คนใน ปัจจุบัน รวมไปถึงวัฒนธรรมประเพณีต่างๆที่สืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้
                ข้อมูลด้านประวัติศาสตร์ที่ได้นอกจากการค้นคว้าเอกสารแล้วยังมีทีมนัก ประวัติศาสตร์ช่วยดูแลและได้มีการตั้งทีมครูโรงเรียนเทศบาลจำนวน 7-8 คนออกไปสืบค้นประวัติที่บ้านดอนบม บ้านโนนเมืองบ้านดอนพันชาด และบ้านทุ่มซึ่งเป็นที่ตั้งเมืองขอนแก่นในอดีตเมื่อ 230ปีที่ผ่านมาโฮงมูนมังเมืองขอนแก่น แบ่งการจัดแสดงออกเป็น 5ส่วนมีการนำเสนอเนื้อหาหลากหลายรูปแบบ เช่น คำบรรยาย ภาพประกอบภาพถ่ายหุ่นจำลอง คอมพิวเตอร์ และสื่อวีดิทัศน์รวมไปถึงข้าวของโบราณต่างๆซึ่งบางชิ้นเป็นของจำลอง แต่บางชิ้นก็เป็นของจริงที่เจ้าของได้บริจาคให้กับพิพิธภัณฑ์เพื่อให้ผู้ที่มาชมได้ศึกษา


                สภาพโดยรอบอาคาร  บริเวณโดยรอบอาคารจะเป็นส่วนของพื้นที่ของบึงแก่นนคร ซึ่งจะเป็นสวนสาธารณะของชาวเมืองขอนแก่น ซึ่งโดยส่วนมากจะมีผู้คนมาออกกำลังกายและมีตลาดขายของในทุกๆเย็นของแต่ละวัน


การจัดแสดงภายใน
ส่วนที่ 1  เป็นการแนะนำเมืองขอนแก่น
เกี่ยวกับความเชื่อเรื่องชื่อของเมืองขอนแก่น ลักษณะทางกายภาพลักษณะภูมิศาสตร์ โบราณวัตถุที่แสดงถึงอารยธรรมอันสูงส่งของเมืองขอนแก่นที่มีมายาวนาน นอกจากนั้นภายในส่วนจัดแสดงนี้ยังมีข้อมูลเกี่ยวกับการขุดค้นพบโครงกระดูกไดโนเสาร์พันธุ์ใหม่ของโลก ที่มีชื่อว่า "ภูเวียงโกซอรัสสิรินธรเน" และ"สยามโมไทรันนัส อีสานเอนซิส"

ส่วนที่ 2  ประวัติศาสตร์เมืองขอนแก่นและวัฒนธรรมโบราณ
การจัดแสดงที่เด่นที่สุดในส่วนนี้คือพิธีฮดสรง (รดน้ำ) ซึ่งเป็นพิธีกรรมดั้งเดิมของชาวอีสานในการเลื่อนสมณศักดิ์ของพระสงฆ์ ซึ่งดำเนินการโดยชาวบ้านกันเอง  มีหุ่นพระสงฆ์ที่เข้าพิธีฮดสรงขนาดเท่าคนจริงนั่งพนมมืออยู่ใต้รางรินซึ่งทำ เป็นรูปพญานาค ด้านท้ายลำตัวนาคมีหุ่นพระสงฆ์อีกรูปกำลังรินน้ำลงในราง  น้ำนี้จะไหลผ่านรูบริเวณคอนาคลงมารด (ฮด) พระสงฆ์ที่นั่งอยู่
ใกล้ๆ กับพิธีฮดสรงและเด่นเกือบจะพอๆ กันคือทับหลังจำลองรูปนารายณ์บรรทมสินธุ์จากกู่เปือยน้อย ซึ่งเป็นศิลปะขอมสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7  รอบๆ ห้องจัดทำเป็นตู้กระจกใส่หุ่นและข้าวของขนาดจิ๋วแสดงวิถีชีวิตของคนโบราณ ด้านต่างๆ  เช่น ความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน การละเล่น การแห่พระ การไหว้ผีและเรือนแบบอีสาน  ตู้ของจิ๋วที่ชอบที่สุดคือตู้ที่แสดงการรักษาของหมอพื้นบ้านแบบต่างๆ  มีทั้งหมอที่ทำการปัดเป่าเภทภัยเหนือธรรมชาติทั้งหลาย เช่น หมอลำทรง หมอจ้ำ หมอมนต์ ฯลฯ และหมอที่ทำการรักษาโรคปกติโดยอาศัยภูมิปัญญาพื้นบ้านเรื่องสมุนไพร


ส่วนที่ 3  การตั้งเมือง
                เป็นส่วนที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการแสวงหาพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์เพื่อตั้ง ถิ่นฐานของบรรพบุรุษ ซึ่งกว่าจะปักหลักลงในพื้นที่ที่เป็นเมืองขอนแก่นปัจจุบัน ต้องเดินทางอพยพโยกย้ายถึง 7 ครั้ง  ผนังด้านหนึ่งเป็นภาพเขียนและประวัติของเจ้าเมืองและผู้ที่มีบทบาทสำคัญใน การสร้างเมืองขอนแก่นในอดีตทั้งหญิงและชาย นอกจากนี้ ยังมีบอร์ดที่อธิบายความสำคัญของ (พิธีตั้ง)เสาหลักเมืองด้วย

ส่วนที่ 4  บ้านเมืองและวิถีชีวิตของชาวขอนแก่น
ส่วนนี้ดูจะเป็นส่วนที่จัดแสดงได้อย่างตื่นตาและมีชีวิตชีวาที่สุด  มีการจำลองสถานที่ที่เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตและอาชีพของผู้คนที่อาศัย อยู่ในเมืองขอนแก่น  โดยส่วนแรกจะเป็นฉากตลาดซึ่งฟากหนึ่งสร้างเป็นห้องแถว 3 ห้อง 
ห้องแรกเป็นร้านขายกาแฟของคนจีน  ถัดไปเป็นร้านขายเครื่องเทศหมากพลูและเครื่องจักสานของแม่ค้าคนไทย  ส่วนห้องสุดท้ายเป็นห้องของแขกขายผ้า  อีกฟากหนึ่งเป็นลานว่างที่มีหุ่นขนาดเท่าคนจริงของแม่ค้าหาบขนมขาย ชาวเวียดนาม เด็กขี่ม้าก้านกล้วย ชาวมุสลิมและบาทหลวงในคริสต์ศาสนา ซึ่งแสดงให้เห็นความหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมของผู้คนที่เดินทางเข้ามาประกอบอาชีพและอาศัยอยู่ในเมืองขอนแก่นในช่วงประมาณ 100 ปีที่ผ่านมา
สำหรับส่วนถัดไป ฟากหนึ่งจัดเป็นฉากบ้านเรือนแบบอีสาน  ใต้ถุนจะเห็นสาวนั่งทอผ้า มีสุ่มเลี้ยงไก่ และมีผู้ชายเลี้ยงควายอยู่อีกมุมหนึ่งของลานบ้าน ส่วนฟากตรงข้ามจัดเป็นร้าน ขายของชำของชาวจีนที่ตกแต่งด้วยเครื่องเรือนและข้าวของสมัยก่อนซึ่งดูน่าจะ เป็นของเก่าจริงๆ มากกว่าจะเป็นของจำลองที่สร้างขึ้นมาใหม่

ส่วนที่ 5  ขอนแก่นวันนี้
จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับขอนแก่นด้านต่างๆ ในปัจจุบัน  มีตู้หุ่นขนาดจิ๋วที่จำลองฮีตสิบสองหรือประเพณีสิบสองเดือนของชาวบ้านอีสาน ที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาแต่โบราณ  มีบอร์ดแสดงภาพถ่ายและประวัติของบุคคลสำคัญที่เป็นชาวขอนแก่นในสาขาต่างๆ  เช่น จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ในด้านการเมืองการปกครอง หมอลำราตรี ศรีวิไลในด้านศิลปวัฒนธรรม  สมรักษ์ คำสิงห์และภราดร ศรีชาพันธุ์ที่ทำชื่อเสียงให้กับประเทศไทยด้านกีฬา เป็นต้น
          นอกจากนี้ ยังมีการแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจต่างๆ ในจังหวัดขอนแก่น ทั้งสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ โบราณคดีและศิลปวัฒนธรรม  มีการจัดแสดงเรื่องราวของผ้าไหมและแคนซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของคนอีสาน  มีการจำลองขบวนฟ้อนและแห่นางสงกรานต์ในเทศกาลสงกรานต์และดอกคูณเสียงแคนด้วย หุ่นขนาดเท่าคนจริง  ปิดท้ายตรงทางออกด้วยรูปถ่ายโบราณที่แสดงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนขอนแก่น ในสมัยก่อน  (เป็นภาพถ่ายที่สวยมากจริงๆ  ขอบอก)
          ในทุกๆ ส่วนจัดแสดง นอกจากหุ่นจำลองผู้คนและสถานที่ต่างๆ แล้ว ยังมีวีดิทัศน์ให้ชมเป็นจุดๆ ซึ่งเมื่อกดปุ่มเปิด ก็จะมีทั้งเสียงและภาพบอกเล่าเรื่องราวที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียดกว่าที่ เขียนไว้ให้อ่านบนบอร์ดมาก

ที่อยู่ และแผนที่เส้นทาง

ที่อยู่ :  ตั้งอยู่ที่ถนนรอบบึง ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น บริเวณชั้นล่างของอาคารสวนสาธารณะ 200 ปี ริมบึงแก่นนครด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ 

 โทรศัพท์/โทรสาร  :  043-271-173, 043-224-031 ต่อ 1603